“รัดเกล้า” เผย ครม. รับทราบผลการพิจารณาศึกษา เรื่อง การแก้ไขปัญหาโครงสร้างราคาพลังงาน ของคณะกรรมาธิการการพลังงาน วุฒิสภา

18 เมษายน 2567

วันนี้ (18 เม.ย. 67) นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (18 เมษายน 2567) มีมติรับทราบผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง การแก้ไขปัญหาโครงสร้างราคาพลังงาน (น้ำมันเชื้อเพลิง เชื้อเพลิงชีวภาพ และก๊าซปิโตรเลียม) ของคณะกรรมาธิการการพลังงาน วุฒิสภา ตามที่กระทรวงพลังงาน (พน.) เสนอและแจ้งให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาทราบต่อไป

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า กระทรวงพลังงาน (พน.) ได้สรุปผลการพิจารณาออกเป็น 2 ส่วนคือ “การแก้ไขปัญหาราคาก๊าซ LPG” และ “ภาพรวมในเชิงบริหารของน้ำมันเชื้อเพลิง เชื้อเพลิงชีวภาพ และก๊าซ LPG” โดยมีรายละเอียดดังนี้

ข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการการฯ และแนวทางการแก้ไขปัญหาราคาก๊าซ LPG ของ พน. โดยมีทั้งสิ้น 4 ข้อดังนี้

1. ควรปรับปรุงการบริหารต้นทุนตามวิธีการผลิตและต้นทุนที่ชัดเจน โดยให้แยกราคาหน้าโรงกลั่น ราคาหน้าโรงแยกก๊าซธรรมชาติ และโครงสร้างราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซ LPG โดยทาง พน. ได้มีการศึกษาและทบทวนมาอย่างต่อเนื่อง โดยเผยแพร่ข้อมูลโครงสร้างราคาก๊าซ LPG และหลักเกณฑ์การคำนวณราคาหน้าโรงกลั่นน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซ LPG รวมทั้งสำรวจและทบทวนค่าการตลาดที่เหมาะสม เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป สำหรับการคำนวณราคาจำหน่ายก๊าซ LPG เป็นไปตามกลไกการกำกับดูแลของคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน และคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ

2. ควรใช้หลักเกณฑ์ในการเปิดสถานีบริการและโรงบรรจุก๊าซ LPG เช่นเดียวกับสถานีบริการน้ำมัน เพื่อเพิ่มช่องทางการบริการและการแข่งขัน อันจะเป็นการลดต้นทุนการจัดการและราคาให้กับผู้บริโภค โดยทาง พน. ได้มีการดำเนินงานด้านหลักเกณฑ์ ให้การก่อสร้างสถานีบริการและโรงบรรจุก๊าซ LPG นั้น ผู้ประกอบการต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยมาตรฐานความปลอดภัยที่เกี่ยวข้อง แต่การลงทุนขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของผู้ประกอบการ ซึ่งกฎหมายไม่ได้ห้ามการลงทุน

3. ควรปรับปรุงแก้ไขกฎหมายเพื่อให้โรงบรรจุก๊าซสามารถบรรจุก๊าซในถังบรรจุก๊าซ LPG ที่มี เครื่องหมายการค้าของผู้ค้าน้ำมันอื่นได้ เพื่อความสะดวกและประหยัดค่าใช้จ่ายในการขนส่ง โดยทาง พน. ได้ปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย ให้ปัจจุบันสามารถดำเนินการได้ โดยผู้ประกอบการต้องปฏิบัติตามกฎกระทรวงของ พน. และต้องคำนึงถึงมาตรฐานความปลอดภัยของถังบรรจุก๊าซ LPG

4. รัฐควรพิจารณานโยบายการรักษาระดับปริมาณเก็บสำรองก๊าซ LPG ที่ร้อยละ 1 (32,725 ตันต่อเดือน) ซึ่งเป็นจำนวนที่เพียงพอสำหรับใช้ในภาคครัวเรือน เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยสามารถผลิตเองได้ ดังนั้น การกำหนดปริมาณเก็บสำรองมากเกินไปจะส่งผลให้ไม่สามารถนำก๊าซที่มีอยู่ออกมาใช้ได้ และต้องเพิ่มการนำเข้าจากต่างประเทศส่งผลให้มีต้นทุนสูงขึ้น รวมทั้งอาจทำให้ผู้ประกอบการนำไปหากำไรจากการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ โดยทาง พน. อยู่ระหว่างศึกษาความเหมาะสมของอัตราการเก็บสำรองก๊าซ LPG

ในส่วนที่สองคือ ข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการการฯ ต่อภาพรวมในเชิงบริหารของน้ำมันเชื้อเพลิง เชื้อเพลิงชีวภาพ และก๊าซ LPG โดยมีทั้งสิ้น 8 ข้อดังนี้

1. เสนอให้จัดตั้งหน่วยงานด้านสารสนเทศเป็นหน่วยงานหลักในการรวบรวม วิเคราะห์และเผยแพร่พลังงานสารสนเทศ

2. มาตรการช่วยเหลือและรักษาเสถียรภาพราคาเชื้อเพลิงที่ควรมุ่งเน้นช่วยเหลือในกลุ่มที่มีความเปราะบางแทนการช่วยเหลือในภาพรวม

3. การเข้าถึงแหล่งพลังงานของประชาชนในราคาที่เป็นธรรม ดังนั้น การกำหนดราคาต้นทุนของพลังงานที่ผลิตในประเทศควรเป็นต้นทุนที่แท้จริง หรือหากใช้ราคาตลาดโลกในการอ้างอิงควรกำหนดให้ราคาที่ผลิตในประเทศมีราคาที่ต่ำกว่า

4. ปรับโครงสร้างราคาน้ำมันเชื้อเพลิงให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ไม่ซับซ้อน ชัดเจน และเป็นธรรม ลดการแทรกแซงราคา ซึ่งการแทรกแซงราคาส่งผลให้เกิดการบิดเบือนโครงสร้างราคาที่แท้จริง

5. พิจารณาแนวทางในการบริหารจัดการกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อให้การบริหารมีประสิทธิภาพและการใช้เงินกองทุนฯ ต้องเป็นไปเพื่อการรักษาเสถียรภาพราคาอย่างแท้จริง ไม่ควรนำไปใช้ในการแทรกแซงหรืออุดหนุนราคาจนเกิดความผันผวน

6. ทบทวนกำหนดเป้าหมายและตัวชี้วัดบนพื้นฐานสถานการณ์ปัจจุบันให้สอดคล้องกับทรัพยากรของประเทศ

7. การจัดหาพลังงานในอนาคตที่ควรเร่งพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมในพื้นที่อื่น ๆ เพิ่มเติม

8. ควรส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษา วิจัยพลังงานและเชื้อเพลิงทางเลือกในอนาคตที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น พลังงานไฮโดรเจนจากน้ำเพื่อลดปริมาณการใช้พลังงานและค่าใช้จ่ายของประชาชน รวมทั้งเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับพลังงานและเชื้อเพลิงทางเลือกในอนาคต

โดยทาง พน. ได้ดำเนินการตามข้อเสนอแนะแทบทุกข้อ อาทิ การจัดตั้งศูนย์สารสนเทศพลังงานแห่งชาติเพื่อเป็นศูนย์กลางสารสนเทศด้านพลังงาน มีการช่วยเหลือราคาเชื้อเพลิงแบบมุ่งเป้าไปยังกลุ่มผู้มีรายได้น้อยในส่วนของก๊าซปิโตรเลียมเหลวและกลุ่มผู้ประกอบอาชีพรถจักรยานยนต์รับจ้างในส่วนของน้ำมันเบนซิน ส่วนการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับการชดเชยราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพเป็นไปตามพระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562 ที่กำหนดให้ชดเชยสูงสุดได้ไม่เกินปี พ.ศ. 2569 รวมทั้งการเปิดให้ยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบใหม่และการเจรจาปัญหาพื้นที่ทับซ้อนไทย - กัมพูชา และมีมาตรการสนับสนุนการศึกษาวิจัยพลังงานและเชื้อเพลิงทางเลือกในอนาคตรูปแบบใหม่อย่างต่อเนื่อง เช่น การใช้ไฮโดรเจนเชิงพาณิชย์ในภาคพลังงาน นอกจากนี้ ยังมีมาตรการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ภายใต้นโยบายสังคมคาร์บอนต่ำ และส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าหรือเชื้อเพลิงทางเลือกอื่นอีกด้วย

“เพิ่มเติมจากที่อยู่ในวาระ ครม. ทาง พน. นำโดย นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ล่าสุดได้มีประกาศกระทรวงพลังงาน เรื่องการแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับการนำเข้าและส่งออกน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2567 ซึ่งได้กำหนดให้ผู้ค้าน้ำมันรายงานข้อมูลรายละเอียดราคาและต้นทุนที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการนำเข้าและการส่งออกน้ำมันเชื้อเพลิง รวมถึงแจ้งราคาต้นทุนเฉลี่ยและหลักเกณฑ์ที่ใช้ในการคำนวณต้นทุนเฉลี่ยของน้ำมันเชื้อเพลิงในทุกไตรมาส และกรณีที่ผู้ค้าน้ำมันปรับปรุงการบันทึกบัญชี หรือเปลี่ยนแปลงข้อมูล จะต้องแจ้งให้อธิบดีกรมธุรกิจพลังงานทราบเช่นเดียวกัน ซึ่งมาตรการนี้จะทำให้ พน. ทราบถึงต้นทุนเฉลี่ยของน้ำมันเชื้อเพลิงที่เป็นจริง ซึ่งถือเป็นข้อมูลที่จำเป็นในการกำหนดนโยบายด้านการพลังงานที่เหมาะสมและเป็นธรรมให้กับประชาชนต่อไป” รองโฆษกรัดเกล้า เสริม

โปรดเลือก