ประวัติ สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี

ปี พ.ศ. 2502 ได้มีพระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการสำนักนายกรัฐมนตรี พ.ศ. 2502 เปลี่ยนชื่อ “สำนักคณะรัฐมนตรี” กลับเป็น “สำนักนายกรัฐมนตรี” ตามเดิม พร้อมทั้งได้มีการจัดตั้งส่วนราชการระดับกรมขึ้นในสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับราชการการเมืองและงานเลขานุการของนายกรัฐมนตรีโดยเฉพาะ คือ สำนักทำเนียบนายกรัฐมนตรี และสำนักบริหารของนายกรัฐมนตรี

โดยที่สำนักทำเนียบนายกรัฐมนตรี (สำนักงานเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปรับเป็นสำนักทำเนียบนายกรัฐมนตรี) มีเลขาธิการทำเนียบนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นข้าราชการการเมือง เป็นผู้บังคับบัญชารับผิดชอบขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี

สำนักบริหารของนายกรัฐมนตรี มีเลขาธิการบริหารของนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นข้าราชการการเมือง เป็นผู้บังคับบัญชารับผิดชอบขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี

ปี พ.ศ. 2509 ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการจัดระเบียบราชการสำนักนายกรัฐมนตรี คือ พระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการสำนักนายกรัฐมนตรี (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2508 ยุบเลิกสำนักบริหารของนายกรัฐมนตรีไปรวมกับสำนักทำเนียบนายกรัฐมนตรี

ต่อมาได้มีการปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับการบริหารราชการผ่านดิน โดยได้มีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 216 ลงวันที่ 29 กันยายน 2515 (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2517 โดยเปลี่ยนชื่อจาก “สำนักทำเนียบนายกรัฐมนตรี” เป็น “สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี” เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2517 จนถึงปัจจุบัน เนื่องจากยังไม่มีหน่วยราชการที่ทำหน้าที่รับผิดชอบราชการของนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีโดยเฉพาะ จึงสมควรจัดตั้งสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีขึ้นในสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อทำหน้าที่เกี่ยวกับราชการทางการเมืองของนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี

หลังจากนั้นเป็นต้นมา สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีได้มีการปรับปรุงอำนาจหน้าที่และโครงสร้างส่วนราชการเรื่อยมา จนกระทั้งในครั้งล่าสุดเมื่อปี พ.ศ. 2559 ตามกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี สำนักนายกรัฐมนตรี พ.ศ. 2559 กำหนดให้สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีมีภารกิจเกี่ยวกับการปฏิบัติราชการด้านการเมือง ด้านวิชาการ ด้านเลขานุการ ตลอดจนเป็นศูนย์ประสานการบริหารราชการแผ่นดินของนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รวมทั้งข้าราชการการเมืองสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดินเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ มุ่งผลสัมฤทธิ์และเป็นไปตามหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี

กลับไปหน้าที่แล้ว