Pattern

สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี

The Secretariat of the Prime Minister

ข่าวทำเนียบรัฐบาล

30 กรกฎาคม 2567
นายกฯ สนับสนุนการพัฒนา “Smart Farmer” ยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรไทย มุ่งพัฒนาภาคการเกษตรให้เติบโต ผนวกการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม สร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลผลิตต่อเนื่อง
นายกฯ สนับสนุนการพัฒนา “Smart Farmer” ยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรไทย มุ่งพัฒนาภาคการเกษตรให้เติบโต ผนวกการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม สร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลผลิตต่อเนื่อง

30 กรกฎาคม 2567 นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เดินหน้าพัฒนาภาคอุตสาหกรรมการเกษตรของไทยอย่างต่อเนื่อง ตั้งเป้าพัฒนา Smart Farmer ยกระดับการแปรรูปผลิตภัณฑ์ เพิ่มมูลค่าผลผลิตการเกษตรจากท้องถิ่น ส่งเสริมการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อเสริมสร้างประสิทธิภาพ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม พัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกรไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการดำเนินนโยบายด้านการเกษตร ดูแลเกษตรกร ยกระดับสินค้าเกษตรกรรมเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ “IGNITE Thailand Agriculture Hub" ผลักดันไทยสู่ศูนย์กลางเกษตรและอาหารของโลก ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้มอบนโยบายด้านการพัฒนาการเกษตรอย่างรอบด้าน อัพราคาสินค้าเกษตรให้เกษตรกรมีรายได้สุทธิมากขึ้น 3 เท่า ใน 4 ปี และมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ทั้งนี้ รัฐบาลได้ดำเนินนโยบายต่อยอดสู่การสร้าง Smart Farmer หรือเกษตรกรอัจฉริยะ เน้นการสร้างตลาด นำนวัตกรรมมาใช้สร้างมูลค่าเพิ่ม (Value Added) ให้กับผลิตผลทางการเกษตร โดยการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ประเภทอาหาร (Food) และไม่ใช่อาหาร (Non Food) รวมทั้งใช้ความรู้ทางการวิจัยและพัฒนา วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และเครื่องจักรเข้ามาช่วยในกระบวนการผลิต ควบคุมคุณภาพ ช่วยแก้ปัญหาการทำเกษตร สร้างมาตรฐานการผลิต รวมถึงสร้างตลาดใหม่เป็นศูนย์รวมการกระจายสินค้าทางการเกษตร ทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งจุดมุ่งหมายในการพัฒนาเกษตรกรไทยสู่ Smart Farmer ได้การบูรณาการร่วมกับการบริหารจัดการฟาร์มยุคใหม่ (Smart Farming) โดยข้อมูลของสำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ การบริหารจัดการดังกล่าวเน้นการพัฒนาด้านเกษตรกรรมใน 4 ด้าน ได้แก่ 1. การลดต้นทุนในกระบวนการผลิต 2. การเพิ่มคุณภาพมาตรฐานการผลิตและสินค้า 3. ลดความเสี่ยงในภาคเกษตรจากการระบาดของศัตรูพืชและภัยธรรมชาติ และ 4. การจัดการและส่งผ่านความรู้ ในมิติของผลผลิต โดยเน้นการผลิตสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพสูง ปลอดภัยต่อ ผู้บริโภค และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ ปัจจุบันมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการเกษตรไทย เช่น โดรนเพื่อการเกษตร เครื่องจักรการเกษตร การใช้พลังงานทดแทนจากธรรมชาติ การแปรรูปผลผลิตเพื่อเพิ่มมูลค่า รวมถึงการบริหารจัดการด้านวัตถุดิบ เทคโนโลยีการผลิต ควบคุมคุณภาพ และการจัดหาตลาดทั้งในประเทศ ต่างประเทศ ผ่านระบบออนไลน์และออฟไลน์ ตลอดจน กระทรวงอุตสาหกรรมมีกองทุนพัฒนา SME ตามแนวประชารัฐสนับสนุนเงินทุนให้ผู้ประกอบการที่มีศักยภาพ ในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าตลาด เพิ่มโอกาสให้ผู้ประกอบการ SMEs เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น รวมถึงบูรณาการความร่วมมือให้เป็นเกษตรอุตสาหกรรม ส่งเสริมการนำวัสดุเหลือใช้จากภาคเกษตรกรรมมาใช้เป็นพลังงานทดแทน เสริมสร้างความยั่งยืนจากการใช้พลังงานสะอาด เข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน สามารถนำคาร์บอนเครดิตไปขาย สร้างรายได้ให้กับกลุ่มเกษตรกรอีกทางหนึ่ง “นายกรัฐมนตรีเดินหน้าสนับสนุนภาคเกษตรกรรมอุตสาหกรรม สู่การเป็น Smart Farmer อย่างต่อเนื่อง ยกระดับผลผลิตการเกษตรจากท้องถิ่น ให้สามารถนำไปแปรรูป สร้างมูลค่าเพิ่มได้ พร้อมส่งเสริมการนำเทคโนโลยี ใช้เป็นเครื่องทุ่นแรงในการทำการเกษตร เพื่ออำนวยความสะดวก สร้างความยั่งยืนให้ชุมชน และเดินหน้าทำตามความตั้งใจเพื่อให้เกษตรกรมีรายได้มากขึ้น 3 เท่า ภานใน 4 ปี ยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรไทยให้ดีขึ้น" นายชัย กล่าว

รูปภาพที่เกี่ยวข้อง

ช่องทางการร้องเรียนและแจ้งปัญหาการทุจริตของเจ้าหน้าที่ สลน.
สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (สลน.)
โดยตรงที่ศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริต สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี
0-2288-4000
ทางไปรษณีย์ ถึง สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี
ทำเนียบรัฐบาล กทม. 10300

Mute

ติดต่อสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (สลน.)