สมเด็จพระสันตะปาปาฟรันซิสเสด็จทำเนียบรัฐบาลเพื่อประทานพระดำรัสแก่คณะทูตานุทูต คณะรัฐมนตรี แขกผู้มีเกียรติ และสื่อมวลชน

21 พฤศจิกายน 2562

วันนี้ (วันที่ 21 พฤศจิกายน 2562) เวลา 09.00 น. ณ สนามหญ้าหน้าตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระสันตะปาปาฟรันซิส (His Holiness Pope Francis)

ในพิธีรับเสด็จ นายกรัฐมนตรีได้กราบทูลเชิญสมเด็จพระสันตะปาปาฯ เสด็จตามพรมแดงไปยังแท่นรับความเคารพ ณ สนามหญ้าหน้าตึกไทยคู่ฟ้า โดยผู้มีเกียรติที่มารับเสด็จ ประกอบด้วย รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการเหล่าทัพ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ หลังจากนั้น นายกรัฐมนตรีกราบทูลเชิญสมเด็จพระสันตะปาปาฯ เสด็จไปยังห้องสีงาช้างด้านนอก สมเด็จพระสันตะปาปาฯ ทรงลงนามในสมุดเยี่ยม และทอดพระเนตรของที่ระลึกที่ทั้งสองฝ่ายมอบให้แก่กัน และนายกรัฐมนตรีเข้าเฝ้าสมเด็จพระสันตะปาปาฯ ณ ห้องสีงาช้าง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล

ภายหลังเสร็จสิ้นการเข้าเฝ้า นายกรัฐมนตรีกราบทูลเชิญสมเด็จพระสันตะปาปาฯ ไปยังตึกสันติไมตรีหลังนอก เพื่ออนุญาตให้คณะทูตานุทูต คณะรัฐมนตรี แขกผู้มีเกียรติ และสื่อมวลชน เข้าเฝ้ารับเสด็จ โดยนายกรัฐมนตรีได้กล่าวถวายการต้อนรับ สาระสำคัญดังนี้

นายกรัฐมนตรีรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสถวายการต้อนรับสมเด็จพระสันตะปาปาฯ ในโอกาสเสด็จเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ในปีนี้ตรงกับวาระครบรอบ 350 ปี การจัดตั้งคณะมิสซังคาทอลิกแห่งสยาม และเป็นวาระครบรอบ 50 ปี ของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับนครรัฐวาติกัน ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้ชื่นชมพระกรณียกิจของสมเด็จพระสันตะปาปาฯ ที่ทรงให้ความสำคัญกับการสร้างความสามัคคี การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การขจัดความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำในสังคม การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม รวมถึงการส่งเสริมสันติภาพในโลก ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้คนทุกศาสนา

นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงการดำเนินนโยบายของไทยที่ได้น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มาเป็นแนวทางในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ซึ่งในปี 2562 นี้ ไทยในฐานะประธานอาเซียนได้ร่วมมือกับทุกภาคส่วนและประเทศหุ้นส่วนทุกภูมิภาคส่งเสริมประชาคมอาเซียนให้เป็นสังคมแห่งการพัฒนาที่ยั่งยืนในทุกมิติ จากผลการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 35 สมาชิกอาเซียนต่างเห็นพ้องที่จะเสริมสร้างความร่วมมือตามประเด็นที่สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของสมเด็จพระสันตะปาปาฯ ได้แก่ การแก้ไขปัญหาความยากจน การลดช่องว่างด้านการพัฒนา การพัฒนาทุนมนุษย์ การคุ้มครองสิ่งแวดล้อม การลดขยะทะเล การพัฒนาพลังงานทดแทน และการอพยพย้ายถิ่นฐานที่เน้นการอำนวยความสะดวก การส่งกลับโดยสมัครใจ ปลอดภัย และมีศักดิ์ศรี จึงเชื่อมั่นว่าไทยและนครรัฐวาติกันจะร่วมมือกันได้อย่างใกล้ชิดทั้งในกรอบทวิภาคีและระหว่างประเทศ

ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่าการเสด็จเยือนไทยครั้งนี้ ของสมเด็จพระสันตะปาปาฯ ยังความปลื้มปิติแก่คริสต์ศาสนิกชนชาวคาทอลิกในประเทศไทยที่มีจำนวนมากกว่า 380,000 คน และเป็นโอกาสให้ได้เข้าร่วมกิจกรรมและพิธีทางศาสนาที่สมเด็จพระสันตะปาปาฯ จะทรงเป็นประธาน ทั้งนี้ รัฐบาลและชาวไทยพร้อมถวายการต้อนรับสมเด็จพระสันตะปาปาฯ และคณะผู้ตามเสด็จอย่างเต็มกำลังความสามารถ เพื่อให้การเสด็จเยือนประเทศไทยเป็นไปโดยราบรื่นตามที่มุ่งหมายไว้

ซึ่งในโอกาสเดียวกันนี้ สมเด็จพระสันตะปาปาฯ ได้ประทานพระดำรัส ใจความสำคัญ ดังนี้

สมเด็จพระสันตะปาปาฯ ยินดีที่ได้มาเยือนประเทศไทย ซึ่งมีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์และเป็นประเทศที่ยังคงรักษามรดกทางจิตวิญญาณและวัฒนธรรม สมเด็จพระสันตะปาปาฯ ได้ขอบคุณนายกรัฐมนตรีที่ให้การต้อนรับ ย้ำถึงความปรารถนาดีต่อราชอาณาจักรไทย และต่อการปกครองของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และขอแสดงความเคารพอย่างสูงต่อพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เคารพและยินดีที่ได้พบทุกท่าน ตลอดจนได้อำนวยพรไปยังบรรดาปวงชนชาวไทยทุกคน และขอบคุณทุกคนที่มีส่วนร่วมในการดำเนินการต่างๆ เพื่อให้สมเด็จพระสันตะปาปาฯ มาเยือนประเทศไทยในครั้งนี้

อาเซียนเป็นสัญลักษณ์ของการร่วมแรงร่วมใจเพื่อแก้ไขปัญหาในภูมิภาคที่กำลังเผชิญ ซึ่งปัญหาของโลกในปัจจุบันส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วนของโลก ในฐานะที่ไทยมีวัฒนธรรมหลากหลายเป็นประเทศพหุสังคมจึงเป็นประเทศที่ยอมรับถึงการสร้างความสามัคคีและการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งประสบการณ์จากการให้ความเคารพและยอมรับความแตกต่าง เป็นแรงบันดาลใจสำหรับทุกคนที่ปรารถนาที่จะสร้างโลกที่แตกต่าง เพื่อมอบให้กับชนรุ่นต่อไป

สมเด็จพระสันตะปาปาฯ ชื่นชมการจัดตั้งคณะกรรมการแห่งศูนย์จริยธรรมและสังคม ซึ่งได้เชิญผู้แทนจากศาสนาต่าง ๆ ในประเทศเข้ามามีส่วนร่วมเพื่อรับฟังความคิดเห็น ในการที่จะรักษาความทรงจำทางจิตวิญญาณอันมีชีวิตของประชาชน สมเด็จพระสันตะปาปาฯ จะได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เพื่อแสดงถึงความสำคัญและความเร่งด่วนในการสร้างมิตรภาพระหว่างศาสนา เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขของสังคม สมเด็จพระสันตะปาปาฯ ยืนยันว่า ชาวคาทอลิกจะพยายามอย่างเต็มความสามารถ ในการสนับสนุนอัตลักษณ์ของความเป็นไทย แผ่นดินไทยได้ชื่อว่าเป็นแผ่นดินแห่งอิสรภาพ อิสรภาพจะเกิดขึ้นต่อเมื่อทุกคนมีความรับผิดชอบต่อกันและกัน เพราะฉะนั้นต้องเอาชนะความไม่เท่าเทียมให้ประชาชนทุกคนมีโอกาสเข้าถึงการศึกษา อาชีพการงาน และความช่วยเหลือด้านสุขภาพเพื่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่สมบูรณ์และยั่งยืน

ในโอกาสนี้ สมเด็จพระสันตะปาปาฯ ได้กล่าวเกี่ยวกับวิกฤติการณ์การเคลื่อนไหวของผู้ย้ายถิ่น ซึ่งปัญหาอยู่ที่สถานการณ์ที่ทำให้เกิดการอพยพย้ายถิ่นเป็นปัญหาด้านจริยธรรมที่สำคัญ สมเด็จพระสันตะปาปาฯ ขอสนับสนุนให้ประชาคมระหว่างประเทศ แก้ไขปัญหาที่ผลักดันให้ประชาชนต้องหลบหนีออกจากประเทศของตน และส่งเสริมให้มีการเคลื่อนย้ายถิ่นฐานที่ปลอดภัย มีการจัดการ และมีการควบคุม โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ทุกประเทศจะจัดตั้งกลไกปกป้องสิทธิและศักดิ์ศรีของผู้ย้ายถิ่นและผู้อพยพ กอปรกับ สมเด็จพระสันตะปาปาฯ ได้ชื่นชมรัฐบาลไทยที่ได้ดำเนินการแก้ปัญหาการใช้ความรุนแรง และการใช้แรงงานในเด็ก และสตรี โดยปีนี้ เป็นปีแห่งการครบรอบ 30 ปี ของ “อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก” ซึ่งเป็นโอกาสดีสำหรับเราในการที่จะไตร่ตรองการวางอนาคตของประชากรของเรา

ในตอนท้าย สมเด็จพระสันตะปาปาฯ กล่าวส่งเสริมให้สังคมมี“ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่” เป็นภารกิจที่ทุกคนสามารถทำได้ และสมเด็จพระสันตะปาปาฯ ได้ขอพระพรจากพระเจ้า ให้ประเทศ ผู้นำ และประชาชนชาวไทย ขอให้พระเจ้าทรงนำทุกคน ในหนทางแห่งปัญญา ความยุติธรรม และสันติสุข

โปรดเลือก