รัฐบาลแจงรายละเอียดและข้อปฏิบัติ พ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ผลตั้งแต่ 26 มี.ค. - 30 เม.ย. 2563 ยันยังไม่มีการประกาศเคอร์ฟิว

26 มีนาคม 2563

วันนี้ (25 มีนาคม 2563) ณ ศูนย์แถลงข่าวโควิด-19 ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี แถลงชี้แจงเพิ่มเติมภายหลัง มีการประกาศใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน 2548 ขึ้นมาคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด -19 ตามที่ได้มีการเผยแพร่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วราชอาณาจักร สืบเนื่องมาจากมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2563 ที่ผ่านมา สถานการณ์มาถึงขั้นที่จะต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อจัดการกับปัญหาและสถานการณ์โรคโควิด – 19 โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ซึ่งกฎหมายแม่บทฉบับนี้ ให้อำนาจมาเป็นระยะเวลา 10 กว่าปีแล้ว และก็ได้เคยประกาศใช้สถานการณ์ฉุกเฉินในบางพื้นที่ในประเทศไทย เช่น กรุงเทพมหานคร และประกาศใช้อยู่ในพื้นที่บริเวณพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงไม่ใช่เรื่องใหม่หรือเรื่องแปลก ที่ผ่านมา การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เพราะเกิดสถานการณ์ความไม่สงบเรียบร้อยขึ้นในประเทศ ครั้งนี้เป็นใช้ในสถานการณ์ที่ต้องต่อสู้โรคระบาดร้ายแรงเป็นครั้งแรก เพราะนิยามของสถานการณ์ฉุกเฉิน หมายรวมถึงภัยสาธารณะ คือ โรคภัยไข้เจ็บทั้งหลายด้วย ไม่เฉพาะการสู้รบเท่านั้น

ทั้งนี้ กฎหมายกำหนดให้การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ต้องกระทำโดยมติคณะรัฐมนตรี ซึ่งครม.ได้มีมติแล้วและให้อำนาจนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ลงนามในประกาศ ซึ่งเผยแพร่ประกาศแล้วในวันนี้ จะมีผลในวันที่ 26 มีนาคม 2563 คือเที่ยงคืนของวันนี้เป็นต้นไป การประกาศแต่ละครั้งมีกำหนดเวลาไม่เกิน 3 เดือน และต่ออายุขยายเดือนอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งครั้งนี้นายกรัฐมนตรีเห็นสมควรกำหนดช่วงระยะเวลาไว้เดือนเศษ คือตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม - 30 เมษายน 2563 และคณะกรรมการ ฯ จะพิจารณาต่ออายุเป็นครั้งคราวไป คาดว่าไม่เกิน 3 เดือน ซึ่งจำเป็นต้องประกาศใช้ทั่วราชอาณาจักร เพราะว่าโรคระบาดโควิดนั้นแพร่หลายไปหลายจังหวัดทั่วประเทศ จึงจำเป็นต้องปิดล้อมสถานการณ์ทั้งหมดไว้ ทั้งนี้ รองนายกรัฐมนตรียังชี้แจงว่า แม้ครม.มีมติแล้วยังไม่สามารถดำเนินการได้ทันที เพราะต้องมีการเตรียมการ เจ้าหน้าที่จะต้องรับรู้ เตรียมที่จะปฏิบัติ มีทั้งตำรวจ ข้าราชการพลเรือนและส่วนท้องถิ่น ที่สำคัญคือประชาชนจะต้องเตรียมตัว เพราะเมื่อบังคับใช้จริง หากละเมิด จะมีความผิดหรือมีโทษตั้งแต่วันที่มีผลบังคับใช้เป็นต้นไป

รองนายกรัฐมนตรีกล่าวถึงข้อกำหนดภายใต้ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ฉบับที่ 1 ได้กำหนดพฤติกรรมไว้ 3 ประเภท ได้แก่ ห้ามทำ ให้ทำ และควรทำ เช่น ห้ามเข้าพื้นที่เสี่ยง โดยผู้ว่าราชการแต่ละจังหวัดจะเป็นผู้ประกาศปิดสถานที่ บางจังหวัดที่ยังไม่สั่งปิดก็ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสั่งห้ามและปิดในลักษณะเดียวกัน สำหรับสถานที่บางแห่ง เช่น สถานที่ท่องเที่ยวตามธรรมชาติ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจารณาตามความเหมาะสม กรณีห้ามเข้าราชอาณาจักรทั้งทางบก ทางเรือ ทางอากาศ ปิดช่องทางการเข้าประเทศไทยตามจุดผ่านแดนต่างๆ ยกเว้นให้บุคคลสัญชาติไทยที่ยังตกค้าง บุคคลคณะทูตตานุทูต ผู้ขนส่งสินค้า อนุญาตให้เข้ามาและกลับออกไปโดยเร็ว ผู้ที่มากับยานพาหนะ โดยบุคคลที่จะเข้าประเทศต้องมีใบรับรองแพทย์ตามที่เคยประกาศแล้ว ห้ามมีการชุมนุม เว้นระยะห่างทางสังคม ห้ามสร้างข่าวปลอม (Fake news) ห้ามโพสต์หรือแชร์ข้อมูลที่บิดเบือน ที่จะทำให้ประชาชนเกิดความเข้าใจผิด ทั้งนี้ มีคำสั่งให้ กระทรวง ทบวง กรม เตรียมโรงพยาบาลภาคสนาม เวชภัณฑ์ บุคลากรทางการแพทย์ให้พร้อมเพื่อช่วยเหลือประชาชน แนะนำให้ประชาชนอยู่บ้าน โดยเฉพาะผู้ที่มีความเสี่ยงสูง ได้แก่ ผู้สูงอายุ 70 ปีขึ้นไป กลุ่มคนมีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดัน ภูมิแพ้ โรคทางเดินหายใจ เด็กอายุไม่เกิน 5 ปี ยกเว้นกรณีมีความจำเป็น เช่น พบแพทย์ ขึ้นศาล ไปโรงพัก สำหรับมาตรการดูแลความสงบเรียบร้อย ตั้งด่านตรวจการเดินทางข้ามพื้นที่ ข้ามจังหวัด เพื่อเฝ้าระวัง สังเกตพฤติกรรมเสี่ยง ตั้งด่านตามถนน สถานีขนส่ง เพื่อป้องกันอุบัติเหตุ อาชญากรรม การรวมกลุ่มสังสรรค์ ทั้งนี้ไม่ได้ห้ามแต่ขอความร่วมมืองดการเดินทางเข้าออกต่างจังหวัด รัฐบาลมีนโยบายให้เปิดสถานที่ทำการ เช่น ซูปเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อ ร้านค้า โรงงาน ร้านอาหาร สถานที่ราชการต่าง ๆ เว้นแต่มีประกาศและขอความร่วมมือประชาชนไม่กักตุนสินค้าด้วย
.........................
กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก

โปรดเลือก