ที่ปรึกษาพิเศษรัฐบาลญี่ปุ่น เข้าเยี่ยมคารวะรองนายกรัฐมนตรี

14 กุมภาพันธ์ 2563

วันนี้ (14 กุมภาพันธ์ 2563) เวลา 09.00 น. ณ ห้องรับรอง 1 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล นายอิซุมิ ฮิโรโตะ (Mr. Izumi Hiroto) ที่ปรึกษาพิเศษนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น มอบหมายให้ นายคิยามะ ชิเกรุ (Mr. Kiyama Shigeru) ที่ปรึกษาพิเศษรัฐบาลญี่ปุ่นและทูตโครงการส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจ เข้าเยี่ยมคารวะ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ในโอกาสเดินทางเยือนไทย สรุปสาระสำคัญของการหารือ ดังนี้

รองนายกรัฐมนตรีกล่าวต้อนรับและยินดีที่ทั้งสองฝ่ายได้พบกันอีกครั้ง โดยชื่นชมการให้ความร่วมมือของญี่ปุ่น ในมิติเศรษฐกิจตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา โดยกล่าวถึงการลงทุนในพื้นที่ EEC ที่ทั้งไทยและญี่ปุ่นจะสามารถใช้ประโยชน์จากศักยภาพซึ่งกันและกันได้เป็นอย่างดี ตลอดจนเสริมสร้างความเชื่อมโยงให้ครอบคลุมมากขึ้น ผ่านโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (SEC) และโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก-ตะวันตก (EWEC) ที่สามารถสร้างความเชื่อมโยงในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงและอาเซียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ที่ปรึกษาพิเศษรัฐบาลญี่ปุ่นฯ กล่าวขอบคุณที่ได้ให้เข้าพบในวันนี้ โดยเชื่อมั่นในนโยบายทางเศรษฐกิจและการส่งเสริมการลงทุนของรัฐบาลไทย และยินดีที่จะเป็นสะพานสานต่อความร่วมมืออย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะความร่วมมือในการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (HRD) ตลอดจนส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนผ่าน SMEs และ ธุรกิจ Startups

ทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นและเห็นพ้องว่าจะร่วมกันผลักดันความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership: CPTPP) ซึ่งรัฐบาลไทยมีความตั้งใจ โดยได้ดำเนินการจัดทำข้อมูลศึกษา (Feasibility Study) การรับฟังจากทุกฝ่าย เพื่อหาข้อมูลทั้งข้อดีและผลกระทบจากการเข้าร่วม เพื่อนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป

นอกจากนี้ ทางบริษัทเอกชนญี่ปุ่นได้แสดงความสนใจที่จะเข้ามาร่วมลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของไทย โดยเฉพาะโครงการรถไฟความเร็วสูง เพื่อส่งเสริมการสร้างความเชื่อมโยงในอนุภูมิภาคและภูมิภาคอาเซียน โดยขณะนี้ ทางญี่ปุ่นได้ระดมทุนครั้งใหญ่ รวมทั้งได้ประกาศข้อริเริ่มด้านเงินกู้และการลงทุนสำหรับอาเซียน (Initiative on Overseas Loan and Investment for ASEAN) มูลค่า 3 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อสนับสนุนให้ภาคเอกชนและภาคการเงินของญี่ปุ่นเข้ามามีบทบาทในการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในอาเซียนเพิ่มมากขึ้น

ในท้ายนี้ รองนายกรัฐมนตรียังกล่าวชื่นชมแนวทางการพัฒนาชนบทของญี่ปุ่น โดยเห็นว่าญี่ปุ่นมีศักยภาพในการเชื่อมโยงภาคการเกษตร อุตสาหกรรม และการท่องเที่ยวได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยกล่าวขอให้ทางญี่ปุ่นเสนอแนะแนวทางเพื่อต่อยอดความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมการเกษตรและด้านอื่นๆ ที่จะเป็นประโยชน์ร่วมกันต่อไปในอนาคต

โปรดเลือก